สีสันอันจัดจ้านผสมผสานกับความวินเทจ ปฏิเสธได้ยากหากกล่าวถึง 2 สิ่งนี้แล้วจะไม่นึกถึงแบรนด์หรูที่มีสัญลักษณ์เป็นตัวอักษร GG ไขว้กันอย่าง GUCCI แบรนด์หรูจากประเทศอิตาลีที่กว่าจะยืนหยัดอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์วงการแฟชั่นกว่า 100 ปี
แต่กว่าจะกลายเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่ง และขึ้นแท่นหนึ่งในแบรนด์ระดับโลก G U C C I เกือบจะไม่มีแม้โอกาสในการผลิตสินค้าขาย ทว่าความล้มเหลว ความผิดหวังก็กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้เช่นกัน
เมืองฟลอเรนซ์จุดจบที่กลายเป็นต้นกำเนิด
คำกล่าวที่ว่าเมืองฟลอเรนซ์เป็นเมืองแห่งศิลปะ ประดับประดาไปด้วยจิตวิญญาณและงานสร้างสรรค์อาจจะเป็นจริงกับคนบางกลุ่ม แต่ไม่ใช่กับกุชชิโอ กุชชี่ (Guccio Gucci) ชายหนุ่มที่กำเนิดขึ้นท่ามกลางครอบครัวช่างฝีมือและเครื่องหนัง เขาเบื่อหน่ายและไม่ชอบใจนักกับธุรกิจของครอบครัว ทำให้ตัดสินใจออกจากเมืองนี้ไปเพื่อตามหาความฝันและสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในชีวิต จุดหมายปลายทางของเขาคือเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ความยากลำบากของการย้ายถิ่นฐานไปต่างเมืองทำให้เขาได้ลองทำงานหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างทั่วไป ล้างจาก พนักงานเสิร์ฟอาหาร จนสุดท้ายได้ปักหลักเป็นเด็กยกกระเป๋าที่โรงแรมซา-วอย (Savoy)
การใกล้ชิดกับกระเป๋า หีบ และกล่องของผู้ที่มาพักโรงแรมจากทั่วโลก ทำให้เขาหลงใหลในความแตกต่าง ความสวยงามของสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ จากนั้นจึงได้ทำการลาออก ย้ายกลับไปยังประเทศอิตาลี เมืองฟลอเรนซ์ บ้านเกิด และเขาได้ทำงานให้กับ ฟรานซิ (Franzi) เจ้าของแบรนด์ Tony ที่ผลิตกระเป๋าเดินทาง เมื่อฝีมือของเขาถูกพัฒนาจนเข้าขั้นชั้นเยี่ยม กุชชี่จึงได้ตัดสินใจเปิดกิจการในนามของตนเองขึ้นมา โดยความตั้งใจแรกคือผลิตและวางจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องหนัง
และในช่วงเวลานั้นหนึ่งในกีฬาหรืองานอดิเรกที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ การขี่ม้า ทำให้ GUCCI ได้ผลิตสินค้าสำหรับการกีฬาชนิดนี้ออกมาวางจำหน่ายเช่นเดียวกับแบรนด์อื่นไม่ว่าจะเป็นเครื่องหนัง อุปกรณ์เสริม และสินค้าที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากทั่วโลกก็คือ อานม้า โดยมีกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่คือเหล่าราชวงศ์และชนชั้นสูงของประเทศอังกฤษ ที่หลงใหลในแถบผ้าทอสีแดงและสีเขียว เอกลักษณ์ของแบรนด์นี้เป็นอย่างมาก ทำให้ชื่อเสียงของ GUCCI แพร่กระจายไปยังทั่วโลก
อุปสรรคหยุดยั้งความสร้างสรรค์ไม่ได้
การโลดแล่นในวงการแฟชั่นของ GUCCI เป็นไปด้วยความราบรื่นและการเติบโตขึ้นในทุกวันจนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และอุตสาหกรรมในทุกแขนงทั่วโลก ทำให้ GUCCI ได้รับผลกระทบนั้นไปด้วย ทรัพยากรหนังได้ขาดแคลนลง ทำให้แบรนด์ได้เบนทิศทางสร้างสรรค์ผลงานประเภทสิ่งทอประเภทผ้าใบขึ้นมาทดแทน และนั่นเป็นจุดกำเนิดของลวดลายข้ามหลามตัดที่มีมุมทั้ง 4 เป็นตัว G หันหน้าเข้าหากัน ที่กลายมาเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่สำคัญของแบรนด์
นอกจากนี้ในช่วงที่หนังวัวขาดแคลน GUCCI ได้หยิบหนังหมูมาทำทดแทน แต่ทว่าจะต้องใช้หมูหลายตัวเพื่อผลิต จึงทำให้ยกเลิกไปในภายหลัง และก็ยังมีอีกหนึ่งตำนานที่กลายเป็น IT BAG ของแบรนด์ กล่าวคือ GUCCI BAMBOO กระเป๋าที่มีหูจับเป็นไม้ไผ่ญี่ปุ่น ความแตกต่างทำให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากบุคคลทั่วไป ความสำเร็จของกระเป๋ารุ่นนี้ GUCCI ถึงกับจดสิทธิบัตรหูจับไม้ไผ่ญี่ปุ่นเป็นของตนเอง
ชีวิตส่วนตัวของ กุชชิโอ กุชชี่ เขาได้มีทายาทถึง 5 คนด้วยกัน แบ่งเป็นชาย 4 คน และหญิง 1 คน แต่มีลูกชายเพียง 3 คนเท่านั้นที่เขาได้ดึงเข้ามาร่วมทำธุรกิจด้วย ได้แก่ อัลโด (Aldo) วาสโค่ (Vasco) และ โรโดลโฟ่ (Rodolfo) Gucci ได้ขยายสาขาไปยังเมืองโรม และเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
เหตุเกิดจากความขัดแย้ง
ภายหลังการเสียชีวิตลงของ กุชชิโอ กุชชี่ ที่เปิดสาขาใหม่ในเมืองแมนแฮตตันได้เพียง 15 วัน ธุรกิจทั้งหมดกลายเป็นของบุตรชายทั้ง 3 โดยสมบูรณ์ และได้อัลโดขึ้นมาเป็นผู้นำ ท่ามกลางความร่วมมือของครอบครัว GUCCI ชื่อเสียงแบรนด์ถูกแผ่ขยายไปไกลทั่วโลก จนในเวลานั้นมีทั้งหมด 13 สาขา และ 46 ร้านแฟรนไซร์ทั่วโลก กิจการต่าง ๆ ถูกดำเนินไปด้วยความราบรื่น GUCCI กลายเป็นหนึ่งแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากถึงขนาดที่ว่าได้ประธานาธิบดีประเทศอเมริกาอย่างจอห์นเอฟเคนเนดี (John F Kennedy) มาเปน Brand Ambrassdor คนแรก
จนกระทั่งถึงในยุคของทายาทรุ่นที่ 3 ได้เกิดความขัดแย้งภายในของครอบครัว GUCCI ขึ้นเนื่องจาก เปาโล(Paolo) ลูกชายของ อัลโด ได้ทำการสร้างแบรนด์ลับ ๆ ขึ้นมาอีกหนึ่งแบรนด์ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัท และได้ใช้ซัพพลายเออร์จากบริษัทของ GUCCI ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันภายในเกิดขึ้น จนท้ายที่สุดตำแหน่งการควบคุมกิจการของ GUCCI ทั้งหมดตกไปอยู่ในมือของ Maurizio Gucci ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องเปาโล และเขาจึงได้ทำการพยายามรีแบรนด์ GUCCI ขึ้นมาใหม่เพราะในขณะนั้นภาพลักษณ์ของตัวแบรนด์ได้มีความเสียหาย และมูลค่าของสินค้ามีราคาที่ต่ำมาก
Maurizio จึงได้ทำการติดต่อ Dawn Mello ผู้เป็นประธานบริษัทของBergdorf Goodman ในขณะนั้นให้เข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการจนกระทั่งถึงช่วงปี 1990 GUCCI ก็ได้ดีไซเนอร์ผู้มากฝีมือจากประเทศอเมริกาอย่าง Tom Ford เข้าร่วมสมทบกับแบรนด์ เวลาผ่านไปจนกระทั่งถึงปี 1993 Maurizio Gucciได้โอนหุ้นทั้งหมดของเขาให้แก่ Investcorp ทำให้ระบบธุรกิจแบบครอบครัวและสิ่งต่าง ๆ ที่ยุ่งเหยิงได้สิ้นสุดลง
กลับกลายเป็นความสำเร็จ
คุณภาพ การออกแบบ และการผลิตที่ได้รับมาตรฐานของสินค้าต่าง ๆ ในแบรนด์ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแม้ตัวแบรนด์จะเกิดปัญหาหรือเจออุปสรรคแค่ไหน สิ่งเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ในมาตรฐานเดิมและไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้ผู้บริโภคหรือสาวกแบรนด์ GUCCI ยังคงอุดหนุนและเชื่อมั่น จับจ่ายกันอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดที่แม้เกิดโรคระบาดโคโรน่าไวรัส GUCCI ยังทำรายได้ให้ Kering Group เพิ่มสูงขึ้นทุกปี และปี 2022 GUCCI มีรายได้อยู่ที่ 9.7 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นจำนวนรายได้ที่สูงสุดของประวัติการณ์