“Fashions fade, Style is eternal” หนึ่งในวาทกรรมคุ้นหูจนนับว่าเป็นประโยคที่ถูกยกขึ้นหิ้งไปเสียแล้วจาก Yves Saint Laurent อัจฉริยะผู้ครอบครองเสียงปรบมืออย่างล้นหลามบนรันเวย์ วันนี้แบคนิฟิคจะพาทุกท่านย้อนกลับไปดูยังจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่กลับยืนยงความเป็นแบรนด์ได้อย่างแข็งแกร่งนาน เกือบ 70 ปี จากความรักสู่ความผิดหวัง จากความชิงชังแปรผันเป็นการหักหลัง ความเจ็บปวด ความกดดันผลักดันให้ Yves Saint Laurent กลายเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ผู้ปฏิวัติขนบเดิม เปลี่ยนแปลงวงการแฟชั่น และขึ้นแท่นแบรนด์ในตำนานจวบจนทุกวันนี้
เด็กหนุ่มจากแอลจีเรีย สู่ดีไซเนอร์ในปารีส
ณ ประเทศแอลจิเรีย เมืองออราน ปี 1936 มีเด็กชายคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวที่เพียบพร้อม โดยมีคุณพ่อเป็นผู้สืบเชื้อสายจากบารอน มาตีเยอ เดอ โมเวียร์ และคุณแม่เป็นถึงลูกสาววิศวกรชาวเบลเยี่ยมโดยเด็กชายคนนั้นมีชื่อว่า อีฟส์ มาติเออร์-แซงต์-โลรองต์ (Yves Mathieu-Saint-Laurent) เป็นลูกชายคนโตสุด และมีน้องสาวอีก 2 คน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเพศสตรีช่วงเวลาในวัยเด็กของโลรองต์จึงมักมีกิจกรรมที่ชอบทำคือ การพับตุ๊กตากระดาษ เขาได้รับสายเลือดแฟชั่นมาจากผู้เป็นแม่อย่างล้นเปี่ยม เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงช่วงชีวิตวัยรุ่นเขาได้เปลี่ยนจากการสร้างชุดให้ตุ๊กตากลายเป็นตัดเย็บเสื้อผ้าให้มนุษย์
ซึ่งคนแรกที่เขาได้รังสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นล้ำค่านี้ให้ก็คือคุณแม่ของเขานั่นเอง กระทั่งปี ค.ศ. 1953 จุดประกายความฝันที่จะเป็นดีไซเนอร์ถูกจุดขึ้นเมื่อโครงการ Young Fashion Designers ที่จัดตั้งโดย International Wool Secretriat เปิดรับสมัคร โลรองต์ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 หลังจากส่งแบบร่างเสื้อผ้าของตนเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ด้วย ทำให้เขาถูกเชิญเข้าร่วมรับรางวัลที่ประเทศฝรั่งเศส และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นดีไซเนอร์ระดับโลก
ชายหนุ่มผู้เปี่ยมไปด้วยความรัก
ด้วยความหลงใหลในการออกแบบเสื้อผ้าที่มีเต็มเปี่ยมจนไปสะดุดตา Michel de Brunhoff บรรณาธิการของนิตยสาร Vogue ประเทศฝรั่งเศส Brunhoff ได้ประทับใจกับผลงานการออกแบบของโลร็องเป็นอย่างมากจึงได้แนะนำให้ไปสมัครเรียนที่ Chambre Syndicale de la Couture สถาบันเกี่ยวกับด้านการออกแบบเสื้อผ้าชื่อดัง แต่เมื่อโลร็องได้เข้าไปเรียนจึงพบว่า เขาไม่ได้ชอบที่จะเรียนในมหาวิทยาลัยมากนักจึงได้ทำการลาออก ในขณะเดียวกันก็ได้ลองส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการเดิมอีกครั้ง
และครั้งนี้เขาได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ด้วยพรสวรรค์และความพยายามทำให้ผลงานของเขาไปเข้าตา คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) ดีไซเนอร์ห้องเสื้อชื่อดัง ทำให้เขาได้รับโอกาสร่วมงานกับดิออร์ และหลังคริสเตียน ดิออร์เสียชีวิตลง เขาก็ได้รับโอกาสเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าดีไซเนอร์ห้องเสื้อ ท่ามกลางชีวิตที่ประสบความสำเร็จในด้านการทำงาน เขาก็ได้พบรักกับ Pierre Bergé นักธุรกิจหนุ่มที่มาเติมเต็มชีวิตรักของเขา จนโลร็องในขณะนั้นนับว่าเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในทุกด้านของชีวิต
เพราะชีวิตจริงไม่ได้สวยหรูดั่งบนรันเวย์
ทว่าความสุขที่มีอยู่มักไม่ยืนยง เมื่อหลังจากที่โลร็องเป็นผู้กุมบังเหียน สร้างชื่อเสียงและความสำเร็จให้กับแบรนด์ DIOR ได้ไม่นานเขาได้ถูกเรียกตัวให้ไปเข้าร่วมการรบภายใต้กองทัพฝรั่งเศสในสงครามรบประกาศอิสรภาพของแอลจีเรีย การหักเหของชีวิตที่ฉับพลันทำให้ดีไซเนอร์ที่สร้างสรรค์งานโดยยึดความรู้สึกทางอารมณ์เจอสภาวะเครียดอย่างหนักทางจิตใจ รวมทั้งมีข่าวร้ายจากแบรนด์ที่เคยร่วมสร้างขึ้นมากับมืออย่าง Dior ว่าต้องการที่จะปลดโลร็องออกจากตำแหน่งหัวหน้าและฉีกสัญญาอย่างเด็ดขาด เรื่องราวที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรงทำให้เขาต้องได้รับการบำบัดที่โรงบาลของกองทัพ โดยเขาถูกบำบัดด้วยยาและเยียวยาด้วยการช็อตไฟฟ้า ซึ่งเป็นการรักษาขั้นสูงสุด
ถึงแม้ชีวิตจะอยู่ในช่วงมรสุมเลวร้ายทว่าข้างกายของโลร็องยังคงมีแฟนหนุ่มนักธุรกิจอย่างปิแอร์คอยให้กำลังใจและคำปรึกษา ปิแอร์ได้เสนอให้โลร็องออกมาเปิดห้องเสื้อเป็นของตนเอง เพราะเนื่องจากโลร็องเป็นคนมีความสามารถและมีกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบในผลงานของเขาอยู่แล้ว จึงเกิดเป็นแบรนด์ Yves Saint Laurent ขึ้นในปี 1961 ความหัวสมัยใหม่ของคู่รักคู่นี้ได้ปรับเปลี่ยนวงการแฟชั่นที่เคยมีคติว่าจะตัดเย็บเสื้อผ้าให้ชนชั้นสูงเพียงเท่านั้น กลายเป็นการขยายความสร้างสรรค์เปิดกว้างตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับทุกเพศทุกคน มุมมองที่เปลี่ยนไป การหลุดจากขีดจำกัดที่เคยมี ทำให้ Yves Saint Laurent ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในฐานะห้องเสื้อ และตัวบุคคล
ปลดเปลื้องขีดจำกัดแห่งความเป็นสตรี
อีกหนึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากให้กับโลร็องและแบรนด์ Yves Saint Laurent นั่นคือ Le Smoking ในปี ค.ศ. 1996 ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดทักซิโดคลาสสิก นำมาปรับปรุงให้กลายเป็น Pants Suit สูทกางเกงสำหรับผู้หญิง มีความเท่และโฉบเฉี่ยว ทำลายขนบความเชื่อที่ว่าผู้หญิงจำเป็นจะต้องใส่กระโปรงเพียงอย่างเดียว เหตุที่ชุดนี้มีชื่อว่า Le Smoking ก็เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ชายหนุ่มมักจะสวมทักซิโดในการทานมื้ออาหารค่ำ จุดบุหรี่สูบ และพูดคุยสนทนาเรื่องเศรษฐกิจการเมือง ขณะที่ผู้หญิงจะถูกกีดกันแยกออกไปอยู่อีกห้อง
โลร็องจึงต้องการยืนหยัดถึงความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงการเรียกร้องสิทธิสตรี และทันทีที่ชุด Le Smoking ถูกเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าชุดนี้เป็นการฝืนธรรมชาติ ทำให้หลายคนสับสนทางเพศ มีความรุนแรงถึงขั้นโรงแรมหรือภัตตาคารหรูหลายที่ในเมืองนิวยอร์กออกข้อห้ามหญิงสาวสวมกางเกงเข้ามาใช้บริการ
แฟชั่นผันเปลี่ยนไปทว่าสไตล์ยังยืนยง
การยืนหยัดในทัศนคติความคิดของตนเอง ความแตกต่างในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ผนวกกับฝีมือการออกแบบที่แยบยลทำให้ท้ายที่สุดแล้ววงการแฟชั่น หรือผู้คนทั่วโลกก็ไม่สามารถปฏิเสธชายหนุ่มอัจฉริยะจากประเทศแอลจีเรียไปได้ จากอดีตเป็นเวลาร่วมเกือบ 70 ปี ที่แบรนด์หรูนี้เพียรสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาให้กับโลกแฟชั่น แม้ Yves Saint Laurent จะไม่ได้อยู่ดูความสำเร็จของแบรนด์ตนเองในปัจจุบัน แต่อัตลักษณ์ของแบรนด์ยังคงเด่นชัดเหมือนวันแรกที่โลร็องได้ปลุกปั้นแบรนด์นี้ขึ้นมา แม้โลกจะเปลี่ยนไป เวลาจะเปลี่ยนแปลง ทว่าจุดยืนของ YSL ยังคงไม่เปลี่ยนไป เฉกเช่นเดียวกับคำที่โลร็องได้เคยกล่าวไว้ว่า “Fashions fade, Style is eternal”